สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง
Don Mueang Airport Customs Office
 

พิธีการถ่ายลำ

พิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำ

หลักการ
การถ่ายลำ หมายความว่า การปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อลำเลียงถ่ายของจากยานพาหนะหนึ่ง ที่ขนส่งของเข้ามาไปยังอีกยานพาหนะหนึ่งที่ขนส่งของออกไปภายในท่าหรือที่แห่งเดียวกันภายใต้การควบคุมของศุลกากร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเสียค่าภาษีอากร ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2557 และ มาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469
  1. เงื่อนไขการถ่ายลำ
  2. ของที่นำผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อทำการถ่ายลำจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
    1. ต้องมีบัญชีสินค้าสำหรับเรือหรืออากาศยาน หรือเอกสารการขนส่งระหว่างประเทศ หรือใบตราส่งสินค้าที่แจ้งท่าหรือสนามบินต้นทางและท่าหรือสนามบินปลายทางที่อยู่นอกราชอาณาจักร
    2. บัญชีตู้คอนเทนเนอร์ (Container List) ต้องระบุท่าหรือสนามบินถ่ายลำที่อยู่ในราชอาณาจักร
    3. กรณีที่ผู้ขอถ่ายลำไม่ใช่ตัวแทนสายเรือหรือสายการบิน ต้องมีชื่อผู้ขอถ่ายลำในบัญชีสินค้าสำหรับเรือหรืออากาศยาน
    4. ของถ่ายลำให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 90 วัน นับแต่วันที่นำของถ่ายลำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเมื่อนำของถ่ายลำเข้ามาในราชอาณาจักรครบ 60 วัน และยังไม่ได้มีการส่งออกไป หน่วยงานศุลกากรต้นทางหรือหน่วยงานศุลกากรปลายทาง (แล้วแต่กรณี) ที่ควบคุมการเก็บรักษาของถ่ายลำจะแจ้งให้ตัวแทนเรือหรือผู้ขนส่งหรือผู้ขอจดทะเบียนถ่ายลำให้มาดำเนินพิธีการส่งของถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
    5. กรณีครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง แต่ยังไม่ครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่นำของถ่ายลำเข้ามาในราชอาณาจักร หากผู้ขอถ่ายลำประสงค์จะปฏิบัติพิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำ ให้ขอผ่อนผันการปฏิบัติพิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำต่อไปได้ เมื่อครบกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่นำของถ่ายลำเข้ามาในราชอาณาจักรหากผู้ขอถ่ายลำเพิกเฉยและไม่ส่งของถ่ายลำออกไปนอกราชอาณาจักรให้เสร็จสมบูรณ์ ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้ถือว่าของถ่ายลำนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้ดำเนินการกับของถ่ายลำดังกล่าวโดยปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยของตกค้าง
  3. ผู้ได้รับอำนาจทำการถ่ายลำ
  4. ให้ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร หรือนายด่านศุลกากรที่มีการนำของถ่ายลำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ผู้ขอถ่ายลำเป็นผู้ได้รับอำนาจทำการถ่ายลำ โดย ผู้ขอถ่ายลำหรือผู้ได้รับอำนาจทำการถ่ายลำต้องมีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
    1. เป็นผู้นำของเข้า หรือผู้ส่งของออกระดับมาตรฐานเออีโอ หรือ
    2. เป็นตัวแทนออกของระดับมาตรฐานเออีโอ หรือ
    3. จดทะเบียนเป็นผู้ขอถ่ายลำและ/หรือผู้ขอผ่านแดนตามแนบท้ายประกาศฯ ณ สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่มีการนำของถ่ายลำนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหรือนายด่านศุลกากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมกับวางเงินไว้เป็นประกันหรือวาง หนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงิน 2 ล้านบาท และหากปรากฏภายหลังว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ณ สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรใด ผู้ขอจดทะเบียนถ่ายลำจะต้องถูกพิจารณาเพิ่มวงเงินประกันตามมูลค่าของของที่กระทำความผิดตามที่กรมศุลกากรเห็นสมควรต่อไป
    4. กรณีที่คุณสมบัติของผู้ขอถ่ายลำไม่เป็นไปตามข้อ 1 หรือข้อ 2 หรือข้อ 3 ผู้ขอถ่ายลำจะต้องทำสัญญาประกันและสัญญาทัณฑ์บนตามแบบแนบท้ายประกาศฯ ณ สำนักงานศุลกากรหรือ ด่านศุลกากรที่มีการนำของถ่ายลำนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมกับวางเงินไว้เป็นประกันหรือวางหนังสือ ค้ำประกันของธนาคารในวงเงินคุ้มค่าภาษีอากรของของทั้งหมด สำหรับการปฏิบัติพิธีการศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำแต่ละครั้ง
  5. การทำใบขนสินค้าถ่ายลำ
  6. ผู้ขอถ่ายลำ จะต้องกรอกรายการในใบขนสินค้าถ่ายลำ ตามแบบแนบท้ายประกาศฯ แบบที่ 379 (ใบแนบ 9) โดยทำเป็น 2 ฉบับ สำแดงรายการตรงกันคือ ชื่อยานพาหนะ วันที่นำของเข้า ท่าหรือสนามบิน ต้นทาง ตัวแทน เครื่องหมาย เลขหมาย จำนวนหีบห่อ ชนิดของสินค้า ชื่อผู้ขอถ่ายลำ พาหนะที่จะส่งออก วันที่ส่งของออก ประเทศปลายทาง (ลงชื่อเมืองท่าหรือสนามบินส่งถึงนอกราชอาณาจักร) นอกจากตัวแทนสายเรือหรือสายการบิน ผู้ขอถ่ายลำจะต้องยื่นบัญชีราคาสินค้าหรือข้อมูลเกี่ยวกับราคาสินค้า เพื่อใช้ประกอบการคำนวณค่าภาษีอากรหรือกำหนดวงเงินประกันและสัญญาทัณฑ์บนด้วย
  7. เอกสารในการยื่นใบขนสินค้าถ่ายลำ
    1. ใบขนสินค้าถ่ายลำ ( ใบแนบ 9 ) สำแดงรายการครบถ้วนแล้ว พร้อมสำเนา ( รวม 2 ฉบับ ) ติดอากรแสตมป์ 1 บาท ทั้ง 2 ฉบับ
    2. INVOICE., PACKING LIST จำนวน 2 ชุด รับรองโดยผู้ขอถ่ายลำ
    3. BILL OF LADING (B/L) รับรองโดยตัวแทนเรือ จำนวน 2 ฉบับ
    4. เอกสารอื่นๆ เท่าที่จำเป็น
  8. เอกสารในการยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้ขอถ่ายลำ
    1. คำร้องขอจดทะเบียนเป็นผู้ขอถ่ายลำและ/หรือผู้ขอผ่านแดน (ตามแนบท้ายประกาศกรมฯ ที่ 211/2558)
    2. สัญญาประกันผู้ขอถ่ายลำ, สัญญาประกันผู้ขอผ่านแดน (ตามแนบท้ายประกาศกรมฯ ที่ 211/2558 )
    3. สัญญาทัณฑ์บนฯ (ตามแนบท้ายประกาศกรมฯ ที่ 211/2558)
    4. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (ออกภายใน 6 เดือน)
    5. สำเนาภาพถ่าย ภ.พ.20
    6. ต้นฉบับพร้อมสำเนาหนังสือค้ำประกันของธนาคาร (วงเงิน 2,000,000.- บาท) (หนังสือ ค้ำประกันต้องไม่กำหนดวันครบกำหนด) และต้องมีลายเซ็นผู้มีอำนาจลงนามแทนธนาคาร (ผู้ค้ำประกัน) พร้อมระบุเลขประจำตัวเจ้าหน้าที่พนักงานด้วย จำนวน 2 คน และพยานจำนวน 2 คน)
    7. หนังสือมอบอำนาจกรณีให้บุคคลอื่นติดต่อแทน ติดอากรแสตมป์ 10 บาท (พร้อมรับรองบัตร ผู้มอบ, ผู้รับมอบอำนาจ)
    8. สำเนาบัตรของผู้มีอำนาจในการจดทะเบียนฯ
    9. เอกสารอื่น ๆ เท่าที่จำเป็น
    การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด กรณีมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดข้างต้นได้และไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหรือนายด่านศุลกากรให้ผู้ขอถ่ายลำยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหรือนายด่านศุลกากร เพื่อเสนอกรมศุลกากรพิจารณาเป็นกรณีเฉพาะราย เว้นแต่เงื่อนไขตามข้อ 1.4 ห้ามมิให้มีการผ่อนผันแต่อย่างใด 

    ข้อมูลเพิ่มเติม ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 211/2558 ลงวันที่ 30 กันยายน 2558 เรื่อง พิธีการ ศุลกากรว่าด้วยการถ่ายลำ
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 26 กันยายน 2560 15:31:38
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง
เลขที่ 222 ถนนวิภาวดี-รังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
หมายเลขโทรศัพท์ : 02-6677000 ต่อ 25-3325
อีเมล์ : -

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง
ลิขสิทธิ์ 2015 สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและคลังข้อมูล ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ