สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง
Don Mueang Airport Customs Office
 

พิธีการผ่านแดน

พิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดน

หลักการ
การผ่านแดน หมายความว่า การปฏิบัติพิธีการศุลกากรเพื่อขนส่งของผ่านราชอาณาจักร จากท่าหรือที่แห่งหนึ่งที่ขนส่งเข้ามาไปยังท่าหรือที่อีกแห่งหนึ่งที่ขนส่งออกไปภายใต้การควบคุมของศุลกากร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่ว่าการขนส่งนั้นจะมีการขนถ่ายของเพื่อเปลี่ยนยานพาหนะ การเก็บรักษาของในคลังสินค้า การเปลี่ยนภาชนะบรรจุของเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง หรือการเปลี่ยนรูปแบบของการขนส่งของด้วยหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ จะต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ ซึ่งของนั้นในราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเสียค่าภาษีอากร ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2557 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469
  1. การผ่านแดนไปยังประเทศที่มีความตกลงกับประเทศไทย
  2. สินค้าผ่านแดน หมายถึง ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ต้นทางและปลายทางการขนส่งสินค้านั้นอยู่ นอกราชอาณาเขตของประเทศไทย แต่ได้ขนส่งข้ามดินแดนของประเทศไทยภายใต้ความตกลงที่ประเทศไทยทำไว้กับบางประเทศ โดยยึดหลักสัมพันธภาพไมตรีและการอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งระหว่างประเทศตามที่กล่าวไว้ในข้อบัญญัติว่าด้วยความเสรีในการผ่านแดนต่อท้ายอนุสัญญาบาร์เซโลนา ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๑๒๑๑ ปัจจุบันความตกลงว่าด้วยสินค้าผ่านแดนที่ประเทศไทยได้ทำไว้ภายใต้อนุสัญญาบาร์เซโลนานี้มีกับ ๒ ประเทศ คือ ความตกลงว่าด้วยการส่งทางถนนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสินค้าผ่านแดนทางรถไฟตามความตกลงกับประเทศมาเลเซีย

    ลักษณะสินค้าผ่านแดน  สินค้าผ่านแดนเมื่อนำเข้ามาเพื่อขนส่งผ่านแดน จะต้อง
    1. ที่หีบห่อมีเครื่องหมาย และเลขหมายแสดงเมือง หรือท่าที่จะขนส่งผ่าน เมืองท่าปลายทางที่ตราส่งถึงเป็นต่างประเทศ
    2. เอกสารการส่ง เช่น ใบตราส่งตลอดทาง หรือเอกสารอื่น แสดงเมืองท่าต้นทางและปลายทางของสินค้านั้นเป็นต่างประเทศ ท่าที่จะขนส่งผ่าน เมืองกำเนิดของสินค้านั้น และอื่นๆ ที่จำเป็นแก่การตรวจสอบ
    3. ใช้กับการขนส่งสินค้าผ่านแดนทางถนนได้ทุกประเภท ยกเว้นการขนส่งสินค้าอันตรายหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของภาคีคู่สัญญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากภาคีคู่สัญญาเป็นกรณีพิเศษ

    4. ผู้ขนส่งผ่านแดนและผู้ขนส่งปลายทางต้อง
    5. เป็นผู้ขนส่งต้นทางหรือผู้ขนส่งช่วงของผู้ขนส่งต้นทางซึ่งมีระบุไว้ในใบตราส่งตลอดทาง (Through Bill of lading) หรือมีหลักฐานแสดงว่า ได้รับมอบหมายจากผู้ส่งสินค้าต้นทางหรือได้รับมอบหมายจากผู้ที่สินค้าตราส่งถึง และ
    6. เป็นผู้ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมการขนส่งทางบกให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว และได้ทำสัญญาประกันทัณฑ์บนการขนส่งสินค้าผ่านแดนไว้กับกรมศุลกากรว่าจะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกรมศุลกากร และเงื่อนไขที่ระบุในสัญญานั้น โดยสัญญาดังกล่าวจะทำอย่างคุ้มได้ทั่วไปตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้ขนส่งผ่านแดน กรณีใบอนุญาตการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจาก กรมการขนส่งทางบกสิ้นอายุ ให้ถือว่าสัญญาประกันทัณฑ์บนการขนส่งสินค้าผ่านแดนสิ้นสุด

    7. การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าผ่านแดน
      การยื่นใบขนสินค้าผ่านแดน (แบบที่ 448) สินค้าผ่านแดนที่นำผ่านเข้า ณ ท่าหรือด่านต้นทาง เมื่อจะขนส่งผ่านแดนต่อไป ผู้ขนส่งผ่านแดน หรือตัวแทนจะต้องยื่นใบขนสินค้าผ่านแดน (แบบที่ 448) ซึ่งประกอบด้วยต้นฉบับ 1 ฉบับ คู่ฉบับ 4 ฉบับ และใบสั่งปล่อย 1 ฉบับ (ใบสั่งปล่อยใช้ใบขนสินค้าผ่านแดนโดยประทับตราว่า ใบสั่งปล่อย ไว้ด้านบน) พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบใบขนสินค้าผ่านแดน เอกสารที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรผ่านแดน

    8. เอกสารในการขนส่งระหว่างประเทศหรือใบตราส่ง
    9. บัญชีราคาสินค้า
    10. เอกสารอื่นซึ่งแสดงท่าหรือที่หรือสนามบินต้นทางและท่าหรือที่หรือสนามบินปลายทางของสินค้าว่าเป็นต่างประเทศเท่าที่จำเป็นแก่การตรวจสอบ
    11. เอกสารรายละเอียดเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าผ่านแดนโดยระบุเส้นทางจากท่าหรือที่หรือสนามบินต้นทางถึงท่าหรือที่หรือสนามบินปลายทางว่าจะใช้ถนนหมายเลขใด ช่วงใด และระยะเวลาในการขนส่งโดยประมาณ
    12. เอกสารอื่นๆ เท่าที่จำเป็น

    13. การตรวจและบรรทุกสินค้าผ่านแดน
      หน่วยงานศุลกากรต้นทาง เมื่อได้รับต้นฉบับใบขนสินค้าผ่านแดนและเอกสารอื่น ให้ตรวจสอบเครื่องหมาย เลขหมาย และจำนวนหีบห่อ เมื่อถูกต้องตรงกับที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าผ่านแดน และบัญชีสินค้าสำหรับเรือแล้ว ให้ตัดรายการออกจากบัญชีสินค้าสำหรับเรือและอนุญาตให้ทำการบรรทุกและมัดลวดประทับตราตะกั่ว กศก. ที่ยานพาหนะหรือตู้สินค้า โดยสลักรายการตรวจและบรรทุกไว้ในใบขนสินค้าผ่านแดนและมอบใบขนสินค้าผ่านแดนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ขนส่งผ่านแดนหรือตัวแทน เพื่อนำไปมอบให้ด่านศุลกากรปลายทางพร้อมกับสินค้านั้น
      หน่วยงานศุลกากรต้นทาง แจ้งการขนย้ายสินค้าผ่านแดน โดยทางโทรสาร, e-Office หรือวิธีอื่นใด ให้หน่วยงานศุลกากรปลายทางทราบภายหลังการส่งมอบแล้ว เพื่อเป็นการควบคุม, ติดตามและตรวจสอบสินค้าผ่านแดน

      ในกรณีสินค้าผ่านแดนของ สปป.ลาว ตกค้างอยู่ในประเทศไทยครบ 90 วัน
    14. การปิดบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่นำเข้าสินค้าผ่านแดน
    15. เมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันเรือเข้า ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักงานศุลกากรที่รับผิดชอบหรือด่านศุลกากรต้นทาง ทำการปิดบัญชีสินค้าสำหรับเรือ เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าผ่านแดนนำเข้าตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นจำนวนเท่าใด ขนขึ้นบกเกินจำนวนเท่าใด ขนขึ้นบกขาดจำนวนเท่าใด มีเอกสารประกอบการแก้ไขบัญชีสินค้าสำหรับเรือหรือไม่ ทำการขนส่งผ่านแดนออกไปแล้วเท่าใด และยังมีสินค้าเหลืออยู่ ยังมิได้ทำการขนส่งผ่านแดนออกไปจำนวนเท่าใด? ถ้าปรากฏว่า เมื่อทำการตรวจสอบปิดบัญชีสินค้าสำหรับเรือแล้ว มีรายการส่งผ่านแดนออกไปหมด ไม่มีสินค้าผ่านแดนเหลือตกค้างอยู่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้ทำการปิดบัญชีสินค้าสำหรับเรือ ลงลายมือชื่อพร้อม วัน เดือน ปี กำกับ แล้วรวบรวมบัญชีสินค้าสำหรับเรือเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับตรวจสอบต่อไป และให้ทำลายเอกสารตามอายุการเก็บรักษาตามระเบียบด้วย
    16. ในกรณีที่สินค้าผ่านแดนของ สปป. ลาว ตกค้างอยู่ในประเทศไทยครบ 90 วัน นับแต่วันนำเข้า ให้ถือว่าสินค้าผ่านแดนนั้นเป็นของตกค้างและฝ่ายไทยสามารถดำเนินการกับสินค้าดังกล่าวได้เช่นเดียวกับของตกค้างตามกฎหมายของประเทศไทย
    17. เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเหมาะสม ในกรณีที่สินค้าผ่านแดนของ สปป.ลาว ตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือตกค้างอยู่ในประเทศไทยครบ 60 วัน นับแต่วันนำเข้า ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสำนักงานศุลกากรที่รับผิดชอบจัดทำรายงานของค้างบัญชีเรือ/รถ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อรีบแจ้งให้ตัวแทนเรือหรือผู้ขนส่งต้นทาง และทูตการพาณิชย์ สปป.ลาว ทราบ ตามแบบที่กำหนดทางไปรษณีย์ลงทะเบียน เมื่อครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ไม่มีผู้มาดำเนินการกับสินค้าดังกล่าวให้ปฏิบัติต่อสินค้านั้นตามระเบียบว่าด้วยของตกค้างต่อไป

      เอกสารที่นำมาประกอบการพิจารณากรณีขอทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนการขนส่งสินค้าผ่านแดน

    18. สัญญาประกันและทัณฑ์บนการขนส่งสินค้าผ่านแดน จำนวน ๓ ชุด เป็นต้นฉบับทั้ง ๓ ชุด (แบบฟอร์มที่กรมฯ กำหนด)
    19. กรณีใช้สิทธิ์หรือหนังสือค้ำประกัน
      1. กรณีใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร วงเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) มีลายมือชื่อของผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน โดยให้ใส่รหัสเจ้าหน้าที่กำกับมาด้วย และพยานจำนวน ๒ คนต้องเป็นหนังสือค้ำประกันฯ แบบไม่ได้กำหนดวันหมดอายุ (ใช้ได้ตลอดไป) ใช้ต้นฉบับ ๑ ฉบับ สำเนา ๘ ฉบับ (พร้อมรับรองสำเนาและลงวันที่กำกับ) หรือ
      2. กรณีใช้สิทธิ์ตัวแทนออกของระดับมาตรฐาน AEO
        1. สำเนาใบรับรองสถานภาพผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอ (AEO Certificate)จำนวน ๑ ฉบับ (พร้อมรับรองสำเนาและลงวันที่กำกับ)
        2. สำเนาสัญญาประกันและทัณฑ์บนของตัวแทนออกของระดับมาตรฐานเออีโอ
        3. สำเนาหนังสือค้ำประกันของธนาคาร (ฉบับที่ใช้ค้ำประกันการทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนตัวแทนออกของระดับมาตรฐานเออีโอ)
        4. หรือ หากกรมฯ ไม่ต่ออายุตัวแทนออกของระดับมาตรฐานเออีโอ ให้บริษัทฯ นำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร จำนวนเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) มายื่นให้ฝ่ายบริการศุลกากรที่ 3 ส่วนบริการศุลกากร 3 สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (งานคลังสินค้าผ่านแดน) ต้นฉบับ ๑ ฉบับ และสำเนา ๘ ฉบับ (พร้อมรับรองสำเนาและลงวันที่กำกับ)
    20. สำเนาใบอนุญาตประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ ประเภทไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของ (แบบ ขส.บ. ๑๒ ฌ.) ให้ถ่ายเอกสารทั้งชุดทุกแผ่น พร้อมทั้งนำต้นฉบับตัวจริงมาตรวจสอบด้วย (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทุกแผ่นพร้อมลงวันที่กำกับทุกแผ่น) (จะต้องยังไม่หมดอายุ)
    21. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทฯ (ออกมาแล้ว ไม่เกิน ๖ เดือน) (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทุกแผ่นพร้อมลงวันที่กำกับ)
    22. สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาฯ จำนวน ๓ ชุด (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาพร้อมลงวันที่กำกับ) กรณีมีมากกว่า ๑ คน ต้องใช้ของทุกคนด้วย
    23. สำเนาทะเบียนบ้านผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาฯ จำนวน ๓ ชุด (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาพร้อมลงวันที่กำกับ) กรณีมีมากกว่า ๑ คน ต้องใช้ทุกคนด้วย
    24. สำเนาบัตรประชาชนของพยานในสัญญาฯ จำนวน ๒ คน คนละ ๒ ฉบับ (ลงลายมือชื่อรับรอง สำเนาทุกแผ่นพร้อมลงวันที่กำกับ) ต้องเป็นบุคคลของบริษัทฯ ทั้ง ๒ คน
    25. สำเนาใบสำคัญการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน ๑ ชุด (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทุกแผ่นพร้อมลงวันที่กำกับ)
    26. สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวน ๑ ชุด (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทุกแผ่นพร้อมลงวันที่กำกับ)
    27. สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนฯ ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทุกแผ่นพร้อมลงวันที่กำกับ)
    28. หนังสือคำร้องของบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนฯ เรื่อง ขอทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน การขนส่งสินค้าผ่านแดน
    29. หนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินการเรื่อง ขอทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ติดอากรแสตมป์ ๑๐ บาท)
    30. สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทุกแผ่นพร้อมลงวันที่กำกับ)

    31. กรณีอนุมัติการทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนการขนส่งสินค้าผ่านแดนแล้ว ให้นำเอกสารมายื่นดังนี้
    32. หนังสือมอบอำนาจให้เป็นผู้กระทำการแทนบริษัทฯ ในปฏิบัติพิธีศุลกากรสินค้าผ่านแดนตามสัญญาประกันและทัณฑ์บนการขนส่งสินค้าผ่านแดน ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำไว้กับกรมศุลกากร โดยลงชื่อผู้มอบอำนาจ, ผู้รับมอบอำนาจ และลงชื่อพยานจำนวน ๒ คน ติดอากรแสตมป์ ๓๐ บาท
    33. สำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ ๑ ฉบับ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนา และลงวันที่กำกับ
    34. สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ ๑ ฉบับ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนา และลงวันที่กำกับ
    35. สำเนาบัตรประชาชนของพยาน ๒ คน คนละ ๑ ฉบับ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองสำเนา และลงวันที่กำกับ


  3. การผ่านแดนไปยังประเทศอื่น ๆ
  4. ของที่นำผ่านเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อทำการผ่านแดนจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
    1. กรณีของผ่านแดนที่มาทางเรือหรืออากาศยาน บัญชีสินค้าสำหรับเรือหรืออากาศยานต้องระบุท่าหรือที่หรือสนามบินต้นทางและท่าหรือที่หรือสนามบินปลายทางอยู่นอกราชอาณาจักร กรณีของผ่านแดนที่มาทางบก บัญชีราคาสินค้าต้องระบุที่ต้นทางและที่ปลายทางอยู่นอกราชอาณาจักร
    2. กรณีของผ่านแดนที่มาทางเรือหรืออากาศยาน ตู้คอนเทนเนอร์ (Container List) สำหรับเรือหรืออากาศยานต้องระบุ ท่าหรือที่หรือสนามบินในราชอาณาจักรที่จะทำการผ่านแดน กรณีของผ่านแดนที่มาทางบก บัญชีราคาสินค้าต้องระบุ ท่าหรือที่หรือสนามบินในราชอาณาจักรที่จะทำการผ่านแดน
    3. บัญชีราคาสินค้าต้องระบุชื่อผู้ส่งสินค้าและผู้รับสินค้าอยู่นอกราชอาณาจักร
    4. ของผ่านแดนให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใน 90 วัน นับแต่วันที่นำของผ่านแดนเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเมื่อนำของผ่านแดนเข้ามาในราชอาณาจักรครบ 60 วัน และยังไม่ได้มีการส่งออกไป หน่วยงานศุลกากรต้นทางหรือหน่วยงานศุลกากรปลายทาง (แล้วแต่กรณี) ที่ควบคุมการเก็บรักษาของผ่านแดนจะแจ้งให้ตัวแทนเรือหรือผู้ขนส่งหรือผู้ขอจดทะเบียนผ่านแดนให้มาดำเนินพิธีการส่งของผ่านแดนออกไปนอกราชอาณาจักร ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

    5. กรณีครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง แต่ยังไม่ครบกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่นำของผ่านแดนเข้ามาในราชอาณาจักร หากผู้ขอผ่านแดนประสงค์จะปฏิบัติพิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดน ให้ขอผ่อนผันการปฏิบัติพิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนต่อไปได้ เมื่อครบกำหนดเวลา 90 วันนับแต่วันที่นำของผ่านแดนเข้ามาในราชอาณาจักรหากผู้ขอผ่านแดนเพิกเฉยและไม่ส่งของผ่านแดนออกไปนอกราชอาณาจักรให้เสร็จสมบูรณ์ ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ให้ถือว่าของผ่านแดนนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และให้ดำเนินการกับของผ่านแดนดังกล่าวโดยปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยของตกค้าง

      ผู้ได้รับมอบอำนาจทำการผ่านแดน
      ให้ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร หรือนายด่านศุลกากรที่มีการนำของผ่านแดนเข้ามา ในราชอาณาจักรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ผู้ขอผ่านแดนเป็นผู้ได้รับอำนาจทำการผ่านแดน โดยผู้ขอผ่านแดนต้องมีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
    6. เป็นผู้นำของเข้า หรือผู้ส่งของออกระดับมาตรฐานเออีโอ หรือ
    7. เป็นตัวแทนออกของระดับมาตรฐานเออีโอ หรือ
    8. จดทะเบียนเป็นผู้ขอผ่านแดนและ/หรือผู้ขอถ่ายลำตามแนบท้ายประกาศฯ ณ สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่มีการนำของผ่านแดนและ/หรือของถ่ายลำนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหรือนายด่านศุลกากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมกับวางเงินไว้เป็นประกันหรือวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารในวงเงิน 2 ล้านบาท และหากปรากฏภายหลังว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ณ สำนักงานศุลกากรหรือด่านศุลกากรใด ผู้ขอจดทะเบียนผ่านแดนและ/หรือถ่ายลำจะต้องถูกพิจารณาเพิ่มวงเงินประกันตามมูลค่าของของที่กระทำความผิดตามที่กรมศุลกากรเห็นสมควรต่อไปหรือ
    9. กรณีที่คุณสมบัติของผู้ขอผ่านแดนไม่เป็นไปตามข้อ 1. หรือข้อ 2. หรือข้อ 3. ผู้ขอผ่านแดนจะต้องทำสัญญาประกันและสัญญาทัณฑ์บนตามแบบแนบท้ายประกาศฯ ณ สำนักงานศุลกากรหรือ ด่านศุลกากรที่มีการนำของผ่านแดนนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมกับวางเงินไว้เป็นประกันหรือวางหนังสือ ค้ำประกันของธนาคารในวงเงินคุ้มค่าภาษีอากรของของทั้งหมดสำหรับการปฏิบัติพิธีการว่าด้วยการผ่านแดน แต่ละครั้ง

    10. การปฏิบัติพิธีการใบขนสินค้าผ่านแดน
      การยื่นใบขนสินค้าผ่านแดน (แบบที่ 448/1) ของผ่านแดนที่นำผ่านเข้า ณ ท่าหรือที่หรือสนามบิน เมื่อจะขนส่งผ่านแดนต่อไป ผู้ขอผ่านแดนหรือตัวแทนจะต้องยื่นใบขนสินค้าผ่านแดน ซึ่งประกอบด้วยต้นฉบับ 1 ฉบับ คู่ฉบับ 3 ฉบับ และใบสั่งปล่อย 1 ฉบับ (ใบสั่งปล่อยใช้ใบขนสินค้าผ่านแดนโดยประทับตราว่า ใบสั่งปล่อย ไว้ด้านบน) พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้มีหน้าที่ตรวจสอบใบขนสินค้า ผ่านแดน

      เอกสารที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรผ่านแดน
    11. เอกสารในการขนส่งระหว่างประเทศหรือใบตราส่ง
    12. บัญชีราคาสินค้า
    13. เอกสารอื่นซึ่งแสดงท่าหรือที่หรือสนามบินต้นทางและท่าหรือที่หรือสนามบินปลายทางของสินค้าว่าเป็นต่างประเทศเท่าที่จำเป็นแก่การตรวจสอบ
    14. เอกสารรายละเอียดเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าผ่านแดนโดยระบุเส้นทางจากท่าหรือที่หรือสนามบินต้นทางถึงท่าหรือที่หรือสนามบินปลายทางว่าจะใช้ถนนหมายเลขใด ช่วงใด และระยะเวลาในการขนส่งโดยประมาณ
    15. เอกสารอื่นๆ เท่าที่จำเป็น

      การตรวจและบรรทุกสินค้าผ่านแดน หน่วยงานศุลกากรต้นทาง เมื่อได้รับต้นฉบับใบขนสินค้าผ่านแดนและเอกสารอื่น จะทำการตรวจสอบเครื่องหมาย หมายเลข และจำนวนหีบห่อ เมื่อถูกต้องตรงกับที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าผ่านแดน และบัญชีสินค้าสำหรับเรือแล้ว จะตัดรายการออกจากบัญชีสินค้าสำหรับเรือและอนุญาตให้ทำการบรรทุกและมัดลวดประทับตราตะกั่ว กศก. ที่ยานพาหนะหรือตู้สินค้า โดยสลักรายการตรวจและบรรทุกไว้ในใบขนสินค้า ผ่านแดนและมอบใบขนสินค้าผ่านแดนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ขนส่งผ่านแดนหรือตัวแทน เพื่อนำไปมอบให้ด่านศุลกากรปลายทางพร้อมกับสินค้านั้น หน่วยงานศุลกากรต้นทาง แจ้งการขนย้ายสินค้าผ่านแดน โดยทางโทรสาร, e-Office หรือวิธีอื่นใด ให้หน่วยงานศุลกากรปลายทางทราบภายหลังการส่งมอบแล้ว เพื่อเป็นการควบคุม, ติดตามและตรวจสอบสินค้าผ่านแดน
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 26 กันยายน 2560 14:43:24
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง
เลขที่ 222 ถนนวิภาวดี-รังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
หมายเลขโทรศัพท์ : 02-6677000 ต่อ 25-3325
อีเมล์ : -

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง
ลิขสิทธิ์ 2015 สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนนวัตกรรมและคลังข้อมูล ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ